AEC (ASEAN Economic Community) หรือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นคำที่ได้ยินเคียงคู่มากับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 อยู่เสมอ เพราะ AEC นั้นเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของประชาคมอาเซียนนั่นเอง โดยจะมีความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ของทั้ง 10 ประเทศในประชาคมอาเซียนเพื่อเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ลองมาดูกันหน่อยว่า เพื่อนบ้านแต่ละประเทศนั้นเขามีการใช้เงินสกุลอะไร อัตราแลกเปลี่ยนเท่าไหร่ และหน้าตาของธนบัตรเป็นอย่างไรบ้าง
ธนบัตร 500 บาท
เริ่มจากที่บ้านเรา ประเทศไทย ใช้สกุลเงิน “บาท” (Thai Baht : THB) โดยเหรียญกษาปณ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีทั้งหมด 9 ชนิด คือ เหรียญ 1, 5, 10, 25 และ 50 สตางค์, 1, 2, 5 และ 10 บาท โดยเหรียญ 25 และ 50 สตางค์, 1, 2, 5 และ 10 บาท เป็นเหรียญที่ออกใช้หมุนเวียนทั่วไป ส่วนเหรียญ 1, 5 และ 10 สตางค์ ไม่ได้ออกใช้หมุนเวียนทั่วไป แต่ใช้ภายในธนาคารเท่านั้น ส่วนธนบัตรที่ใช้ในปัจจุบันและมีการผลิตอย่างต่อเนื่อง มี 5 ชนิด คือ ธนบัตร 20, 50, 100, 500 และ 1,000 บาท
ธนบัตร 10,000 ดอลลาร์บรูไน
ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม หรือ เนการา บรูไน ดารุสซาลาม ใช้สกุลเงิน “ดอลลาร์บรูไน” (Brunei Dollar : BND) อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน 1 ดอลลาร์บรูไน เท่ากับประมาณ 25 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) ธนบัตรที่พิมพ์ออกใช้ในปัจจุบันนี้มีฉบับละ 1 ดอลลาร์, 5 ดอลลาร์, 10 ดอลลาร์, 20 ดอลลาร์, 25 ดอลลาร์, 50 ดอลลาร์, 100 ดอลลาร์, 500 ดอลลาร์, 1,000 ดอลลาร์ และ 10,000 ดอลลาร์
ธนบัตร 1,000 เรียล
ประเทศกัมพูชา หรือ ราชอาณาจักรกัมพูชา ใช้สกุลเงิน “เรียล” (Cambodian Riel : KHR) อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน 127 เรียล เท่ากับประมาณ 1 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) ธนบัตรที่พิมพ์ออกใช้ในปัจจุบันนี้มีฉบับละ 50 เรียล, 100 เรียล, 200 เรียล, 500 เรียล, 1,000 เรียล, 2,000 เรียล, 5,000 เรียล, 10,000 เรียล, 20,000 เรียล, 50,000 เรียล และ 100,000 เรียล
ธนบัตร 100,000 รูเปียห์
ประเทศอินโดนีเซีย หรือ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ใช้สกุลเงิน “รูเปียห์” (Indonesian Rupiah : IDR) อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน 1,000 รูเปียห์ เท่ากับประมาณ 3 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) ธนบัตรที่พิมพ์ออกใช้ในปัจจุบันนี้มีฉบับละ 1,000 รูเปียห์, 2,000 รูเปียห์, 5,000 รูเปียห์, 10,000 รูเปียห์, 20,000 รูเปียห์, 50,000 รูเปียห์ และ 100,000 รูเปียห์
ธนบัตร 50,000 กีบ
ประเทศลาว หรือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ใช้สกุลเงิน “กีบ” (Lao Kip : LAK) อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน 1,000 กีบ เท่ากับประมาณ 4 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) ธนบัตรที่พิมพ์ออกใช้ในปัจจุบันนี้มีฉบับละ 500 กีบ, 1,000 กีบ, 2,000 กีบ, 5,000 กีบ, 10,000 กีบ, 20,000 กีบ และ 50,000 กีบ
ธนบัตร 100 ริงกิต
ประเทศมาเลเซีย ใช้สกุลเงิน “ริงกิต” (Malaysian Ringgit : MYR) อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน 1 ริงกิต เท่ากับประมาณ 10 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) ธนบัตรที่พิมพ์ออกใช้ในปัจจุบันนี้มีฉบับละ 1 ริงกิต, 5 ริงกิต, 10 ริงกิต, 20 ริงกิต, 50 ริงกิต และ 100 ริงกิต
ธนบัตร 1,000 จ๊าด
ประเทศพม่า หรือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ใช้สกุลเงิน “จ๊าด” (Myanmar Kyat : MMK) อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน 26 จ๊าด เท่ากับประมาณ 1 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) ธนบัตรที่พิมพ์ออกใช้ในปัจจุบันนี้มีฉบับละ 50 ปยา, 1 จ๊าด, 5 จ๊าด, 20 จ๊าด, 50 จ๊าด, 100 จ๊าด, 200 จ๊าด, 500 จ๊าด, 1,000 จ๊าด , 5,000 จ๊าด และ 10,000 จ๊าด
ธนบัตร 1,000 เปโซ
ประเทศฟิลิปปินส์ หรือ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ใช้สกุลเงิน “เปโซ” (Philippine Peso : PHP) อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน 1.40 เปโซ เท่ากับประมาณ 1 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) ธนบัตรที่พิมพ์ออกใช้ในปัจจุบันนี้มีฉบับละ 20 เปโซ, 50 เปโซ, 100 เปโซ, 200 เปโซ, 500 เปโซ และ 1,000 เปโซ
ธนบัตร 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์
ประเทศสิงคโปร์ หรือ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ใช้สกุลเงิน “ดอลลาร์สิงคโปร์” (Singapore Dollar : SGD) อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ เท่ากับประมาณ 25 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) ธนบัตรที่พิมพ์ออกใช้ในปัจจุบันนี้มีฉบับละ 2 ดอลลาร์, 5 ดอลลาร์, 10 ดอลลาร์, 50 ดอลลาร์, 100 ดอลลาร์, 1,000 ดอลลาร์ และ 10,000 ดอลลาร์
ธนบัตร 100,000 ด่ง
ประเทศเวียดนาม หรือ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ใช้สกุลเงิน “ด่ง” หรือ “ดอง” (Vietnamese Dong : VND) อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน 652 ด่ง เท่ากับประมาณ 1 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) ธนบัตรที่พิมพ์ออกใช้ในปัจจุบันนี้มีฉบับละ 1,000 ด่ง 2,000 ด่ง 5,000 ด่ง 10,000 20,000 ด่ง 50,000 ด่ง 100,000 ด่ง 200,000 ด่ง และ 500,000 ด่ง
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเงินตรา
โดยทั่วไป เงินจำแนกออกได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่ เงินเหรียญ เงินกระดาษ และเงินในบัญชี
ภาวะเงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ระดับราคาของสินค้าหรือการบริการในช่วงระยะเวลาหนึ่งสู้ขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จนแม้มีเงินมากก็ซื้อสินค้าได้จำนวนน้อย เป็นภาวะที่ตรงกันข้ามกับ ภาวะเงินฝืด
ชนิดราคาของธนบัตร ยิ่งมีจำนวนเลขศูนย์มาก ยิ่งแสดงว่าประเทศนั้นประสบกับภาวะเงินเฟ้อสูง
ค่าเงินแข็งตัว หมายถึง การที่ค่าเงินสกุลหนึ่งมีค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น
ค่าเงินอ่อนตัว หมายถึง การที่ค่าเงินสกุลหนึ่งมีค่าลดลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น
เมื่ออยู่ในธนาคารหรือร้านแลกเงิน มักปรากฏรหัสของเงินตราแต่ละประเทศเป็นตัวอักษรละติน 3 ตัว ตัวอักษรเหล่านั้นคือ รหัส ISO 4217 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลสำหรับสกุลเงินที่ใช้ในประเทศต่างๆ โดยตัวอักษรได้มาจากชื่อประเทศรวมกับชื่อสกุลเงินทีใช้ในประเทศนั้นๆ เช่น เงินบาท-Thai Bath รหัส ISO 4217 คือ THB
หลักของมูลค่าเงินเรียกว่า มาตรฐานเงินตรา เป็นการกำหนดกฎเกณฑ์ และกำหนดมูลค่าของวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือหลายสิ่งเป็นมาตรฐาน
มาตรฐานเงินตราแบ่งออกเป็น มาตรฐานเงินตราอิงโลหะมีค่า มาตรฐานเงินตราที่ไม่อิงโลหะมีค่า และมาตรฐานผสมภายใต้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ
โลหะมีค่าที่ใช้ในการกำหนดมาตรฐานเงิน ได้แก่ ทองคำและโลหะเงิน
การใช้มาตรฐานเงินตราที่ไม่อิงโลหะมีค่า เกิดขึ้นในช่วงหลังปี ค.ศ. 1930 ที่เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ และประเทศต่างๆ ขาดแคลนโลหะ โดยมาตรฐานเงินตราที่ไม่อิงโลหะมีค่าประกอบด้วย มาตรฐานกระดาษ มาตรฐานปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และมาตราโภคภัณฑ์สำรอง
ลักษณะสำคัญของมาตรฐานกระดาษ ได้แก่ เป็นธนบัตรซึ่งมีมูลค่าไม่เต็มตัว ไม่สามารถนำเงินตราชนิดใดไปไถ่ถอนโลหะมีค่าได้ แลกกันได้เฉพาะกับธนบัตรด้วยกันเท่านั้น มีรัฐเป็นผู้เดียวที่สามารถผลิตเงินได้ และทำหน้าที่ควบคุมปริมาณการออกเงินอย่างใกล้ชิด
มาตรฐานปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ใช้หลักอ้างอิงกับเงินตราต่างประเทศ เช่น กรณีอิงกับเงินดอลลาร์ เรียกว่า มาตรฐานปริวรรตเงินดอลลาร์ เมื่อจะผลิตเงินกระดาษออกใช้ก็ต้องมีทุนสำรองเป็นเงินดอลลาร์ตามอัตราส่วนที่กฎหมายบัญญัติไว้
มาตรฐานโภคภัณฑ์สำรอง อ้างอิงกับโภคภัณฑ์หลายชนิดของประเทศ เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ดีบุก
ธนบัตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นเงินที่มีค่าไม่เต็มตัว หรือเรียกว่า เงินเครดิต เพราะธนบัตรทุกชนิดราคามีค่าในทางเป็นเงินมากกว่าค่าของสิ่งของที่ทำเงินนั้นขึ้นมา เช่น ธนบัตรใบละ 100 บาท อาจมีราคาค่ากระดาษและค่าพิมพ์ไม่ถึง 5 บาท
ภาพใหญ่บนธนบัตรทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า ภาพประธาน ส่วนภาพอื่นที่อยู่รอบภาพประธานเรียกว่า ภาพประกอบ
ลายน้ำ กระดาษฟอยล์ ช่องใส ภาพซ้อนทับบนธนบัตร มีไว้เพื่อป้องกันการปลอมแปลงธนบัตร
ภาพซ้อนทับ คือภาพที่เมื่อมองจากด้านหน้า หรือด้านหลังธนบัตรเพียงด้านเดียวจะเห็นเป็นภาพเว้าแหว่ง จนยกขึ้นส่องไฟจึงจะเห็นภาพจากทั้งสองด้านของธนบัตรมาประกอบกันเป็นภาพสมบูรณ์ ธนบัตรที่ใช้เทคนิคนี้ เช่น ธนบัตรของประเทศอินโดนีเซียที่ใช้ตราสัญลักษณ์ธนาคารเป็นภาพซ้อนทับ
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นยกพลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วได้พื้นที่บางส่วนไว้ในปกครอง จากนั้นได้ดำเนินการออกใช้ธนบัตรให้ดินแดนใต้อำนาจของตนใช้ร่วมกัน ดินแดนในคาบสมุทรมลายูเรียกเงินเหล่านี้ว่า เงินกล้วย ตามภาพต้นกล้วยที่ปรากฏบนธนบัตรชนิดราคา 10 ดอลลาร์
เงินที่ออกใช้โดยญี่ปุ่นในบริเวณอื่น ได้แก่ พม่า เรียกว่า เจแปนนีสรูปี ในหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตซ์ เรียกว่าเจแปนนีสกิลเดอร์ และในฟิลิปปินส์ เรียกว่า เจแปนนีสสเปโซ ซึ่งส่วนใหญ่เงินดังกล่าวไม่ค่อยมีค่าและใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น
การรวมตัวของประชาชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community : AEC จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2015 ซึ่งมุ่งเน้นให้อาเซียนเป็นตลาดและศูนย์กลางของฐานการผลิตโลก
เพื่อให้การพัฒนา AEC ประสบความสำเร็จ จึงมีการหารือกันในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 26-30 มีนาคม ค.ศ. 2012 ที่จะให้มีธนาคารกลางอาเซียน โดยเป้าหมายหลักของธนาคารกลางอาเซียน คือกำกับดูแล อำนวยความสะดวก และให้บริการทางการเงินในประชาคมอาเซียน หลังการเปิดเสรีในปี ค.ศ. 2015
ภายใต้ AECจะมีการเคลื่อนย้ายเงินไปมาระหว่างประเทศมากขึ้น ประเทศต่างๆ 10 ประเทศจะสามารถชำระสินค้าและบริการข้ามประเทศทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวก และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง มีการเชื่อมโยงระบบเอทีเอ็มพูลให้เป็นเครือข่ายเดียวกัน ซึ่งจะทำให้สามารถใช้บัตรใบเดียวกดเอทีเอ็มได้ทุกที่ใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังมีความพยายามที่จะใช้การแลกเปลี่ยนเงินตราโดยตรงด้วยสกุลเงินท้องถิ่น ไม่ต้องใช้เงินดอลลาร์สหรัฐอย่างที่เคยใช้ เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่การจะรวมสกุลเงินเข้าไว้เป็นสกุลเดียวอย่างสกุลเงินยูโรของสหภาพยุโรปหรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามในอนาคต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น